ทิศทางพลังงาน

            พลังงานมีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศในทุกๆด้าน เพราะการดำเนินธุรกรรมทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมจำเป็นต้องอาศัยพลังงานเป็นปัจจัยพื้นฐาน เศรษฐกิจไทยที่เจริญพัฒนาได้อย่างมั่นคง ด้วยอัตราการเจริญเติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี ตลอดช่วงปี พ.ศ. 2504-2539 ซึ่งเป็นช่วงของการพัฒนาประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1-7


พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย

            การอนุรักษ์พลังงานและการใช้เทคโนโลยีพลังงานทดแทนชุมชน มีจุดประสงค์เพื่อที่เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงานทดแทน และเทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องด้วย พระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์อัน กว้างไกลด้านพลังงานทดแทนของพระองค์ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรชาวไทยและชาวต่างประเทศ ก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างกว้าง ขวางสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิง อีกทั้งยังช่วยให้พสกนิกรชาวไทยมีรายได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เปรียบพระองค์ท่านได้ดั่ง ‘องค์พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย’ โดยเนื้อหาประกอบด้วยเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่ได้ดำเนินตามแนวทาง พระราชดำริ อาทิ ไบโอดีเซล เอทานอล เชื้อเพลิง อัดแท่ง พลังงานแสงอาทิตย์และเทคโนโลยีการอนุรักษ์พลังงานต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับชุมชนในการประหยัดการใช้พลังงานในชุมชน


ประวัติพลังงาน

ประวัติการพัฒนาพลังงานไทย
วิวัฒนาการพลังงานไทย คือ วิวัฒนาการพัฒนาชาติ

           ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411 – พ.ศ. 2453) นั้น วิทยาการสมัยใหม่ต่าง ๆ เข้ามาในประเทศไทย ทำให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ในช่วงนั้น ถือกันว่าเป็นสยามยุคพัฒนา สังคมไทยเปลี่ยนไปจากเดิม เริ่มมีการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์ ไปรษณีย์ โทรเลข โรงพยาบาล รถราง รถไฟ รวมไปถึงการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เช่น ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า น้ำมัน ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทย กลายมาเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในที่สุด กิจการด้านพลังงานของประเทศไทย ทั้งในด้านไฟฟ้าและน้ำมันนั้น มีการพัฒนามาเป็นลำดับอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถแบ่งเป็นช่วงต่าง ๆ ได้ ดังนี้

    • ช่วงบุกเบิกพลังงานสยาม (พ.ศ. 2411 – 2475)
    • ช่วงเติบโตด้านพลังงาน (พ.ศ. 2476 – 2483)
    • ช่วงฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลก (พ.ศ. 2484 – 2500)
    • ช่วงเร่งรัดพัฒนา (พ.ศ. 2501 – 2514)
    • ช่วงโชติช่วงชัชวาล (พ.ศ.2515 – 2549)
    • ช่วงเศรษฐกิจก้าวกระโดด (พ.ศ. 2541 – 2549
ช่วงบุกเบิกพลังงานสยาม (พ.ศ. 2411 – 2475)

           การนำเข้าพลังงานของประเทศไทย เติบโตควบคู่กับการเข้ามาของประเทศตะวันตก ทั้งในด้านการเมือง ศิลปะวิทยาการและการลงทุน ในบทนี้ใคร่ขอกล่าวย้อนหลังเพื่อบันทึกเหตุการณ์โดยย่อ เกี่ยวกับประวัติการวิวัฒนาการของการพัฒนาพลังงานไทย ซึ่งอีกนัยหนึ่งเป็นการสะท้อนภาพการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของชาติในภาพรวมด้วย วิวัฒนาการนี้ดำเนินมาเป็นเวลาเกือบ 140 ปีแล้ว ย้อนไปถึงยุคเริ่มต้นรัชกาลของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทีเดียว น้ำมันก๊าด เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ชนิดแรกที่เข้ามาในประเทศไทย ในระยะแรก ใช้เพื่อจุดตะเกียง เพื่อให้แสงสว่าง ประชาชนในสมัยนั้นเรียกน้ำมันก๊าดว่าน้ำมันปิโตรเลียม น้ำมันก๊าดได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากใช้ง่าย สะดวก มีควัน และเขม่า น้อยกว่าน้ำมันมะพร้าว บริษัทน้ำมันต่างชาติที่เข้ามาค้าน้ำมันในประเทศไทยเป็นบริษัทแรก คือ บริษัท รอยัลดัทช์ ปิโตรเลียม จำกัด จัดตั้งผู้แทนจำหน่ายน้ำมันในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2435 ต่อมาได้ร่วมทุนกับบริษัท เชลล์ทรานสปอร์ตแอนด์เทรดดิ้ง จำกัด ก่อตั้งบริษัท เอเชียติก ปิโตรเลียม (สยาม) จำกัด ขึ้นเพื่อจำหน่ายน้ำมันก๊าด ต่อมาในปี พ.ศ. 2437 บริษัท แสตนดาร์ด ออยล์ จำกัด จากสหรัฐอเมริกา ได้เข้าสู่ธุรกิจปิโตรเลียมของประเทศไทยเป็นรายถัดมา ด้วยการเปิดที่ทำการสาขาพร้อมทั้งก่อสร้างคลังน้ำมันขึ้นในกรุงเทพฯ โดยนำเข้ามันก๊าด ตรา “ไก่” และ ตรา “นกอินทรี” ตลอดจนน้ำมันหล่อลื่นเครื่องจักรไอน้ำในโรงสีข้าวเข้ามาจำหน่าย ในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้น บริษัทแว็คคั่มออยล์ จำกัด เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ได้เข้ามาค้าน้ำมันในประเทศไทย ซึ่งต่อมาได้รวมกิจการเข้ากับบริษัทแสตนดาร์ดออยล์ฯ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท โซโคนี่แว็คคั่มคอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นตรา “นกแดง” ซึ่งมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในขณะนั้น หลังจากที่ถนนหนทางในกรุงเทพฯ ได้รับการพัฒนาปรับปรุงจนมีสภาพดี สำหรับใช้คมนาคมสัญจรแล้ว ในปี พ.ศ. 2439 พระยาสุรศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ จึงได้นำรถยนต์คันแรกเข้ามาทดลองวิ่งบนท้องถนน และอีก 6 ปีต่อมา พระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) ได้ดัดแปลงมาเป็นรถเมล์ขาว จึงเป็นจุดเริ่มในการนำน้ำมันเบนซินมาใช้ในประเทศไทย เมื่อรถยนต์กลายมาเป็นยานพาหนะที่ได้รับความนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้การใช้น้ำมันเบนซินของประเทศขยายตัวขึ้น จึงมีการก่อสร้างสถานีบริการเพื่อจำหน่ายน้ำมันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 ในระหว่างนี้ บริษัทค้าน้ำมันต่าง ๆ ได้ทยอยนำน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ในช่วงแรก ๆ นั้นกิจการน้ำมันเป็นการซื้อมาขายไป ไม่มีการผลิตในประเทศ ประมาณปี พ.ศ. 2464 มีการพบน้ำมันที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงสั่งให้ขุดบ่อเพื่อกักน้ำมันไว้ เรียกว่า “บ่อหลวง” หรือ “บ่อเจ้าหลวง” พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการรถไฟ ทรงติดต่อว่าจ้างนักธรณีวิทยา ชาวอเมริกันขื่อ Mr. Wallace Lee มาทำการสำรวจ เมื่อปี พ.ศ. 2464 – พ.ศ. 2465 รวม 2 ปี หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2475 กรมทางหลวงได้มาทำการสำรวจขุดเจาะอีกครั้ง และระงับการขุดเจาะไปในที่สุด ประเทศไทยเริ่มมีไฟฟ้าใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2427 ผู้ให้กำเนิดการไฟฟ้าของไทย คือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เมื่อครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ โดยท่านได้ติดตั้งเครื่องกเนิดไฟฟ้า เดินสายไฟฟ้า และติดดวงโคมไฟฟ้า ที่กรมทหาร ซึ่งเป็นที่ตั้งกระทรวงกลาโหม ในปัจจุบัน ในวันที่เปิดทดลองใช้ไฟฟ้าครั้งแรกนั้น บรรดาขุนนาง ข้าราชการ และประชาชน มาดูแสงไฟฟ้าอย่างแน่นขนัดด้วยความตื่นตาตื่นใจ เมื่อความทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งไฟฟ้า แสงสว่างขึ้นในวังหลวงทันที ต่อมาในปี พ.ศ. 2430 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัมปทานเดินรถรางแก่ นายอัลเฟรต จอห์น ลอฟตัส และนายอังเดร เดอริเชอลิเออร์ และในที่สุดเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2431 รถรางสายแรกในประเทศไทยและในเอเชีย การเดินรถรางครั้งแรกนั้นใช้ม้าลากขบวนรถราง เช่นเดียวกับรถม้า ถือเป็นการสร้างระบบขนส่งมวลชนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ซึ่งส่งผลให้การคมนาคม ในพระนครสะดวกยิ่งขึ้น จากคมนาคมด้วยรถรางนี้เอง ที่ทำไฟฟ้าได้ก่อประโยชน์อย่างสำคัญ เดิมเจ้าหมื่นไวยวรนาถวางแผนที่สร้างโรงไฟฟ้าให้ประชาชนในจพระนครได้ใช้ไฟฟ้า โดยคิดจะจัดรูปบริษัทร่วมกับชาวต่างประเทศ แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการ อย่างไรก็ดีในปี พ.ศ. 2437 ทางราชการได้รับกิจการไฟฟ้าที่เจ้าหมื่นไวยวรนาถริเริ่มไว้มาดำเนินการต่อ เวลานั้นกิจการรถรางขาดทุน และได้โอนมาให้ บริษัท เดนมาร์ก ซึ่งได้ขยายกิจการรถรางใหม่ โดยเปลี่ยนจากม้ารถลาก มาใช้ไฟฟ้าเคลื่อนขบวนรถในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2437 ถือเป็นขบวนรถรางไฟฟ้าสายแรก ๆ ในโลก โดยขณะนั้นประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปยังไม่มีรถรางไฟฟ้า แม้แต่กรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น ยังเริ่มใช้รภรางไฟฟ้าในราวปี พ.ศ. 2446 พระนครในยุคนั้นมีการพัฒนาหลายด้าน ความนิยมใช้ไฟฟ้าเริ่มเพิ่มขึ้นใน พ.ศ. 2440 นายเลียวนาดี ชาวอเมริกันผู้ร่วมกันจัดตั้ง บริษัท บางกอก อิเล็กตริก ไลต์ ซินดิเคท (Bangkok Electric Light Syndicate) เป็นการดำเนินกิจการไฟฟ้าโดยเอกชนเป็นครั้งแรก โดยมีสัญญาจ่ายไฟตามจุดต่างๆ ในท้องถนนหลวงและสถานที่ราชการโดยได้เช่าที่ดินวัดราชบูรณะรายวรวิหาร (วัดเลียบ) เพื่อตั้งโรงจักรผลิตไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแห่งนี้จึงเรียกกันว่า โรงไฟฟ้าวัดเลียบ แต่กิจการไฟฟ้าของบริษัทฯ ดำเนินการได้ไม่นานนักก็ขาดทุน ในปี พ.ศ. 2444 นายอ๊อก เวสเตนโฮลซ์ ชาวเดนมาร์ก จึงรับโอนกิจการมาในนาม บริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด (Siam Electricity Co., Ltd.) ซึ่งจดทะเบียนที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2441 เพื่อดำเนินกิจการเดินรถรางและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในพระนคร โดยมีสถานที่ทำการและโรงไฟฟ้าอยู่ข้างวัดเลียบ โรงไฟฟ้าวัดเลียบในสมัยนั้นเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (ไอน้ำ) ใช้ไม้ฟืน ถ่านหิน น้ำมัน และแกลบเป็นเชื้อเพลิง มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 6 เครื่อง และรวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 18,500 กิโลวัตต์ (18.50 เมกะวัตต์) ใน พ.ศ. 2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล จัดสร้างโรงไฟฟ้าและโรงกรองน้ำขึ้นที่สามเสนในคราวเดียวกัน เพื่อจะได้กำลังไฟฟ้าที่มีราคาถูกและสะดวกในการเดินเครื่องสูบน้ำของการประปาด้วย โรงไฟฟ้าสามเสนก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2457 มีกำลังผลิต 25,500 กิโลวัตต์ เริ่มจำหน่ายกระแสไฟฟ้า โดยใช้ชื่อว่า การไฟฟ้าหลวงสามเสน เป็นรัฐพาณิชย์อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงมหาดไทย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกองไฟฟ้าหลวงสามเสน การผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าวัดเลียบและโรงไฟฟ้าสามเสน ทำให้ประชาชนในเขตพระนครและธนบุรีมีไฟฟ้าใช้กันอย่างกว้างขวาง และยังได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือ Far Eastern Review ฉบับประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2474 ว่า “ด้านหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ อยู่ที่บางกอกเมืองหลวงของประเทศสยาม” สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงเป็นปึกแผ่น และความนิยมอย่างแพร่หลายของกิจการไฟฟ้าในเมืองหลวงได้เป็นอย่างดี อีกก้าวสำคัญของกิจการไฟฟ้าคือ ไฟฟ้าได้ทวีความสำคัญขึ้นเป็นสาธารณูปการที่มีผลต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2471 รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายระบุถึงสาธารณูปโภคไว้ 7 อย่าง ได้แก่ รถไฟ รถราง ขุดคลอง เดินอากาศ ประปา ชลประทาน และโรงไฟฟ้า ในส่วนของกิจการไฟฟ้านั้น จะต้องได้รับอนุญาตหรือสัมปทานจากรัฐก่อนจึงจะดำเนินการค้าขายได้ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกิจการไฟฟ้าขึ้นทั่วประเทศเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค จึงได้จัดตั้ง แผนกไฟฟ้า สังกัดกองบุราภิบาล กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทยขึ้นในปี พ.ศ. 2472 เพื่อจัดให้มีไฟฟ้าใช้ตามสุขาภิบาลต่าง ๆ กิจการไฟฟ้าในต่างจังหวัดมีขึ้นเป็นครั้งแรก ในเขตสุขาภิบาลเมืองราชบุรีและเมืองนครปฐมในปี พ.ศ. 2470 และ พ.ศ. 2473 ตามลำดับและเริ่มขยายไปสู่เทศบาลเมืองต่าง ๆ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจาก “ระบอบราชาธิปไตย” มาเป็น “ระบอบประชาธิปไตย” เมื่อปี พ.ศ. 2475 นั้น กิจการไฟฟ้าได้ขยายไปยังสุขาภิบาลหลายแห่ง ซึ่งได้แก่ ปราจีนบุรี ภูเก็ต นครนายก ชลบุรี บ้านโป่ง จันทบุรี และเชียงใหม่

ช่วงเติบโตต้านพลังงาน (พ.ศ. 2475 – 2483)

           ผู้บริหารประเทศพยายามพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า มีความพยายามที่จะสร้างความเสมอภาคทางด้านเศรษฐกิจและการคลัง รัฐบาลพยายามลงทุนในการดำเนินวิสาหกิจที่สำคัญ ๆ ด้วยตัวเอง เมื่อน้ำมันปิโตรเลียมกลายเป็นสิ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ รัฐบาลไทยก็ตระหนักถึงผลกระทบจากการที่ประเทศไทยไม่สามารถจัดหา ผลิต หรือกลั่นน้ำมันเองได้ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2476 กระทรวงกลาโหมจึงได้จัดตั้ง “แผนกเชื้อเพลิง”เพื่อจัดหาน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด และน้ำมันหล่อลื่น พร้อมทั้งสร้างคลังน้ำมันขึ้นที่ช่องนนทรี สร้างโรงงานทำปี๊บเพื่อบรรจุน้ำมันก๊าด และต่อเรือบรรทุกน้ำมัน ชื่อ “สมุย” ที่ประเทศญี่ปุ่น นับเป็นเรือบรรทุกน้ำมันลำแรกของไทย สำหรับใช้บรรทุกน้ำมันจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปและใช้ถ่วงดุลธุรกิจการค้าน้ำมันของบริษัทค้าน้ำมันต่างชาติ ในปี พ.ศ. 2480 รัฐบาลมีมติเปลี่ยนแผนกเชื้อเพลิงเป็น “กรมเชื้อเพลิง” พร้อมทั้งก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของประเทศไทยขึ้นที่ช่องนนทรี ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 โรงกลั่นน้ำมันแห่งนี้ได้ช่วยขจัดปัญหาน้ำมันขาดแคลนระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นอย่างมาก เนื่องจากภาวะสงครามทำให้บริษัทน้ำมันต่างชาติต้องหยุดค้าน้ำมันในประเทศไทย อย่างไรก็ตามรัฐบาลจำเป็นต้องยุติบทบาทการดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมของประเทศภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 (ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488) และนำมาซึ่งการยุบกรมเชื้อเพลิง เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2489 ตลอดจนขายกิจการและทรัพย์สินทั้งหมด เช่น คลังเก็บน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมัน ให้กับบริษัทน้ำมันต่างชาติ คือ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด และบริษัท แสตนดาร์ดเวลคั่มออยล์ จำกัด ทั้งยังต้องขอให้บริษัททั้งสองนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย โดยรัฐบาลทำหนังสือรับรองว่าจะไม่ดำเนินธุรกิจกาค้าน้ำมันให้หน่วยงานราชการและประชาชน ยกเว้นเพื่อใช้ในกิจการทหาร อีกทั้งให้สิทธิบริษัทค้าน้ำมันต่างชาติสามารถจำหน่ายน้ำมันได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาติ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทน้ำมันข้ามชาติในประเทศไทยต้องปิดตัวลง ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมันถูกระเบิดเสียหาย เรือบรรทุกน้ำมัน “สมุย” ถูกตอร์ปิโดจมลง เมื่อสงครามสงบธุรกิจปิโตรเลียมของไทยก็ถูกปิดลงเช่นกัน โรงกลั่นถูกขายให้บริษัทน้ำมันข้ามชาติซึ่งไม่นานก็ย้ายออกจากประเทศไทย การขาดแคลนน้ำมันปิโตรเลียมเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ในปี พ.ศ. 2477 แผนกไฟฟ้าได้ยกฐานะเป็น “กองไฟฟ้า” สังกัดกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทย กิจการไฟฟ้าแพร่หลายไปสู่หัวเมืองต่าง ๆ มากขึ้น โดยมีการทยอยก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้ชุมชนขนาดใหญ่ระดับจังหวัดและอำเภอต่าง ๆ ขณะเดียวกัน มีเอกชนขอรับสัมปทานจัดตั้งกิจการไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก โดยอยู่ในความควบคุมดูแลของกองไฟฟ้า กรมโยธาเทศบาลในเวลานั้นโรงไฟฟ้าต่างจังหวัดเป็นระบบผลิตขนาดเล็ก ๆ และจ่ายไฟในเขตสุขาภิบาลเฉพาะตอนกลางคืนเท่านั้น บริการไม่สม่ำเสมอ และราคาจำหน่ายให้แก่ประชาชนก็แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเอกชนผู้รับสัมปทาน ซึ่งทำให้มาคาค่อนข้างสูง

ช่วงพลังงานฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลก (พ.ศ. 2483 – 2500)

           จากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมให้แก่ประชาชน ซึ่งถือเป็นการปลดแอกพันธนาการในการดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมของประเทศอย่างสิ้นเชิง ทำให้องค์การเชื้อเพลิงมีอิสระในการดำเนินงานได้อย่างเต็มที่ รัฐบาลจึงได้ลงทุนก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันบางจากขึ้นในอีก 2 ปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2496 คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ควรจะขยายงานด้านเชื้อเพลิงให้ครอบคลุมไปถึงพลังงานอื่น ๆ ที่จะจัดสรรหา มาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ จึงได้ลงมติให้กระทรวงกลาโหม ดำเนินงานขยายกิจการด้านองค์การเชื้อเพลิง ให้ครอบคลุมไปถึงพลังงานอื่น ๆ ด้วย เมื่อ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2496 ตั้ง “กรมการพลังงานทหาร” และปรับปรุงขยายกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ช่วงสงครามโลกนั้น กิจการไฟฟ้ามีอุปสรรคมาก โรงไฟฟ้าทั้งในพระนครและต่างจังหวัดต่างชำรุดทรุดโทรมลง โรงไฟฟ้าวัดเลียบ โรงไฟฟ้าสามเสน และโรงไฟฟ้าในอีกหลายจังหวัด ถูกระเบิด ทำลายเสียหายใช้การไม่ได้ เกิดภาวะขาดแคลนไฟฟ้าอย่างหนักทั้งในเขตพระนครและต่างจังหวัด มีการดับไฟฟ้าเป็นเขต ๆ หรือจ่ายกระแสไฟฟ้าเฉพาะบางเวลานั้น ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนที่ต้องการขอใช้ไฟฟ้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า รัฐบาลจึงจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อรับผิดชอบด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ความคิดที่จะนำพลังน้ำมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้ามากว่า 30 ปีแล้ว เพราะเมื่อปี พ.ศ. 2481 รัฐบาลสมัยนั้นได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการไฟฟ้ากำลังน้ำ” ขึ้น เพื่อพิจารณานำเอาพลังงานจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า แทนที่จะใช้เครื่องไอน้ำหรือดีเซล ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการผลิตสูงมากและประเทศไทยก็มีน้ำตกและแม่น้ำใหญ่อยู่มากมายหลายแห่ง น่าที่จะพัฒนานำมาใช้ประโยชน์ได้ ในปีต่อมาได้มีการศึกษาและสำรวจ “โครงการไฟฟ้าพลังน้ำกาญจนบุรี” รวมทั้งได้เสนอโครงการต่อรัฐบาลมาก่อนแล้ว แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการต่อ สงครามก็ได้ลุกลามมายังทวีปเอเชียเสียก่อน รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานด้านนโยบายทางพลังงาน โดยในปี พ.ศ. 2491 ได้มีการจัดทำแผนและระบบไฟฟ้าในประเทศขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาพลังงานไฟฟ้าระยะยาว และในปี พ.ศ. 2494 รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าทั่วราชอาณาจักร ซึ่งต่อมาใน พ.ศ. 2496 จึงได้มีการออกพระราชบัญญัติการพลังงานแห่งชาติขึ้นโดยมี “คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ” เป็นผู้วางนโยบายและพิจารณาโครงการด้านพลังงาน การไฟฟ้าในพื้นที่นครหลวง ในปี พ.ศ. 2493 รัฐบาลจัดตั้ง การไฟฟ้ากรุงเทพฯ เข้าดำเนินกิจการแทนบริษัท ไฟฟ้าไทยคอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งหมดสัมปทานลง จากนั้นใน พ.ศ. 2501 จึงรวมกิจการของการไฟฟ้ากรุงเทพ และกองไฟฟ้านครหลวงสามเสน ขึ้นเป็นการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในเขตพระนครและปริมณฑล โดยโอนหน้าที่ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าให้การไฟฟ้ายันฮีดำเนินการแทน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา นับจากนั้น การไฟฟ้านครหลวงจึงมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเท่านั้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รัฐบาลจัดตั้งองค์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขึ้น พ.ศ. 2497 เพื่อดำเนินงานแทนกองไฟฟ้า ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 จึงได้เปลี่ยนเป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รับผิดชอบการขยายบริการทั้งด้านผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ประชาชนในส่วนภูมิภาคทั้งหมดในส่วนของการผลิตไฟฟ้า คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติได้ดำเนินการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้น 3 องค์การหลัก ได้แก่ องค์การพลังงานไฟฟ้า ลิกไนต์ จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2497 เพื่อเปิดการทำเหมืองที่จังหวัดลำปาง และที่จังหวัดกระบี่ ต่อมาใน พ.ศ. 2503 ได้ยกฐานะเป็นการลิกไนต์และพลังงานไฟฟ้า รับผิดชอบการผลิตและจัดจำหน่ายถ่านลิกไนต์และพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าลิกไนต์ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมดและภาคเหนือบางจังหวัด องค์การที่มีหน้าที่ผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด คือ การไฟฟ้ายันฮี จัดตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2500 รับผิดชอบการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ภาคเหนือและภาคกลางรวม 36 จังหวัด โดยมีภารกิจเริ่มแรกในการก่อสร้างเขื่อนยันฮี (เขื่อนภูมิพล) จังหวัดตาก และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญที่สุดในขณะนั้น เพื่อแก้ไขภาวะขาดแคลนไฟฟ้า ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐบาลใต้จัดตั้งการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ ใน พ.ศ. 2505 เพื่อทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าป้อนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด โดยระยะแรกได้ทำการก่อสร้างโครงการเขื่อนพองหนีบ (เขื่อนอุบลรัตน์) จังหวัดขอนแก่น และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (เขื่อนน้ำพุง) จังหวัดสกลนคร ช่วงเร่งรัดพัฒนาประเทศ (พ.ศ. 2500 – 2514) การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี พ.ศ. 2500 นั่นส่งผลต่อการเปลี่ยนโฉมใหม่ทางกำลังการกลั่นเพิ่มเป็นวันละ 20,000 และ 65,000 บาร์เรล ในปี พ.ศ. 2511 และ พ.ศ. 2515 ตามลำดับ กิจการไฟฟ้าไทยยุคใหม่ เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2504 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก (พ.ศ. 2504 – พ.ศ. 2509) โดยมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ คือ “โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ” เริ่มเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าใน พ.ศ. 2504 ช่วยให้การขาดแคลนไฟฟ้าในเขตพระนครและธนบุรียุติลงได้ หลังจากนั้นก็มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพลของการไฟฟ้ายันฮี โรงไฟฟ้าลิกไนต์กระบี่ ของการลิกไนต์และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ของการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ยังได้มีการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า สถานีไฟฟ้าแรงสูง และระบบจ่ายไฟฟ้าไปสู่แหล่งอุตสาหกรรมและชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ

           ดังนั้น เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ จึงมีพระราชบัญญัติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2512 โดยรวมกิจกรรมของหน่วยงานด้านการผลิตเข้าด้วยกัน ได้แก่ การไฟฟ้ายันฮี การลิกไนต์ และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ นับแต่นั้น กฟผ. จึงรับภารกิจหลักด้านการผลิตและจัดหาพลังงานไฟฟ้า โดยยึดหลักสำคัญในการดำเนินงาน คือ ให้มีไฟฟ้าเพียงพอ มีความมั่นคงเชื่อถือได้ และราคาเหมาะสม ผลจากการจัดตั้ง กฟผ. ทำให้การพัฒนาไฟฟ้าของประเทศก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ สามารถขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมและการพัฒนาชนบทได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในความมั่นคงของระบบไฟฟ้ามีการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าเริ่มเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นการใช้ไฟฟ้าในภาคที่อยู่อาศัยไปสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยใน พ.ศ. 2515 การใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 65 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ

ช่วงโชติช่วงชัชวาล (พ.ศ. 2514 – 2525)

           วิกฤตการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกทั้ง 2 ครั้ง คือเมื่อปี พ.ศ. 2516 – พ.ศ. 2517 และ พ.ศ. 2523 พ.ศ. 2526 ส่งผลกระทบต่อกิจการพลังงานของประเทศเป็นอย่างมาก ที่ต้องนำเข้าพลังงาน ในรูปของน้ำมันดิบมากกว่าร้อยละ 80 ของความต้องการใช้งาน อย่างไรก็ตามวิกฤตพลังงานดังกล่าว กลายเป็นปัจจัยในการแสวงหาแหล่งพลังงานในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองทางด้านพลังงาน รวมทั้งเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน และเป็นจุดเริ่มของการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน ในช่วงปี พ.ศ. 2516 – พ.ศ. 2517 วิกฤตการณ์น้ำมันโลกครั้งที่ 1 ซึ่งกลุ่มประเทศโอเปกได้ใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลให้น้ำมันดิบมีราคาสูงขึ้นมากหลายเท่าตัว จากบาร์เรลละ 2.09 เหรียญสหรัฐ เพิ่มเป็นบาร์เรลละ 8.32 เหรียญสหรัฐ ในเวลาเพียง 1 ปี นอกจากนี้ยังได้ประกาศขึ้นราคาน้ำมันทางการอย่างต่อเนื่องตลอดปี พ.ศ. 2517 อีก 5 ครั้งด้วยกัน ทำให้น้ำมันมีราคาสูงมากและเกิดสภาวะน้ำมันขาดแคลนไปทั่วโลก… ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคพลังงานและไม่มีแหล่งพลังงานปิโตรเลียมภายในประเทศเป็นของตนเอง จึงได้รับผลกระทบจากระดับราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงโดยตรง รัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี จึงได้ตราพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 ขึ้น นับเป็นการตั้งองค์กรของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมของประเทศขึ้นโดยตรงเป็นครั้งแรก “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” หรือ “ปตท.” จึงเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ถายใต้วิกฤตการณ์พลังงานรอบด้านที่รุมเร้าประเทศและรัฐบาลในขณะนั้น สถานการณ์พลังงานดังกล่าวถือเป็นตัวเร่งให้ประเทศไทย เริ่มมองหาแหล่งพลังงานปิโตรเลียมภายในประเทศ เพื่อช่วยบรรเทาการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ ประกอบกับในขณะนั้นได้มีการสำรวจพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งมีปริมาณมากเพียงพอที่จะสามารถพัฒนานำขึ้นมาใช้ในเชิงธรรมชาติดังกล่าวยังพบว่า การลงทุนวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตอ่าวไทยมายังชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและกรุงเทพฯ จะมีความสำคัญต่อสภาพเศรษฐกิจ จึงนำมาสู่การเร่งรัดพัฒนาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเพื่อนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ โดยในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2521 องค์การก๊าซธรรมชาติฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับบริษัท ยูโนแคลไทยแลนด์ จำกัด นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ในการพัฒนาก๊าซธรรมชาติอย่างแท้จริง

           นอกจากเรื่องการผลักดันให้มีการพัฒนาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้ประโยชน์แล้วในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันของโลกถึง 2 ครั้ง ทำให้รัฐบาลต้องก้าวเข้ามามีบทบาทในการสร้างเสถียรภาพความมั่นคงทางด้านพลังงานมากขึ้นกว่าในอดีต ด้วยดารควบคุมราคาน้ำมันขายปลีกให้อยู่ในระดับที่ไม่สร้างความเดือดร้อนประชาชน และจะต้องไม่เสียวินัยทางการคลังด้วย รัฐบาลจึงตั้ง “กองทุนน้ำมัน” ขึ้นมาเพื่อสร้างเสถียรภาพทางพลังงาน ด้วยการรักษาระดับราคาน้ำมัน คือ สร้างกลไกเพื่อชะลอผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันจากภายนอกประเทศ ให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจความเป็นอยู่ของประชาชนน้อยที่สุด ด้านกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ สามารถขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมและการพัฒนาชนบท ได้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในความมั่นคงของระบบไฟฟ้า มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าเริ่มเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นการใช้ไฟฟ้าในภาคที่อยู่อาศัยไปสู่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 65 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ภาวะน้ำมัน ขาดแคลนในช่วงปี พ.ศ. 2517 – พ.ศ. 2524 จึงเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการผลิตไฟฟ้าของประเทศอย่างรุนแรง น้ำมันเตาซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีราคาแพงขึ้นและเกิดจากการขาดแคลน ทำให้ต้องลดการผลิตไฟฟ้าในบางครั้ง ดับไฟเป็นบางเขต และในที่สุดต้องปรับค่าไฟฟ้าหลายครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นผลให้กิจการไฟฟ้าต้องหันมาเปลี่ยนวัตถุดิบในการผลิตพลังงาน โดยเริ่มหันมา ใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ และหันมาพึ่งพาพลังงานในประเทศมากขึ้น

ช่วงเศรษฐกิจก้าวกระโดด (พ.ศ. 2525 พ.ศ. 2540)

           เสถียรภาพทางพลังงานของประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น จากการพบแหล่งทรัพยากรพลังงานในประเทศ เมื่อผนวกกับสถานการณ์ทางการเมือง ในภูมิภาคที่มั่นคงกว่าเดิม และกระแสการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นปัจจัยส่งเสริมในความเติบโตทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก มีความเจริญรุดหน้าอย่างก้าวกระโดด สอดคล้องกับขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ด้านพลังงาน เป็นปัจจัยสำคัญรองรับแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ จากการที่ประเทศไทยประสบวิกฤตทางด้านพลังงานอย่างรุนแรงหลายครั้ง สิ่งที่ชัดเจนคือ การที่รัฐบาลขาดเอกภาพในการบริหารด้านพลังงาน เนื่องจากหน่วยงานทางด้านพลังงานต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ภายใต้สายบังคับบัญชาเดียวกัน ทำให้ยากต่อการควบคุมและประสานงาน นอกจากนี้รัฐบาลยังขาดกลไกอย่างถาวรในการวางแผน ประสานงานและการกำหนดบทบาทด้านพลังงานระหว่างภาครัฐและเอกชน อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง แม้ว่าในปี พ.ศ. 2524 ประเทศไทยสามารถคลี่คลายวิกฤตการณ์น้ำมันลงได้ และน้ำมันยังคงมีราคาสูงแต่ภาวะน้ำมันขาดแคลนได้หมดสิ้นไป ในช่วงนี้รัฐบาลจึงจัดการปัญหาของบริษัท ซัมมิท อินดัสเตรียล คอร์ปอเรชั่น (ปานามา) จำกัด ซึ่งเป็นผู้เช่าดำเนินการโรงกลั่นน้ำมันบางจาก และยังได้สิทธิจากรัฐบาลในการนำเข้าน้ำมันดิบวันละ 65,000 บาร์เรล จากประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อมาผลิตเป็นน้ำมันสำเร็จรูป จำหน่ายให้กับรัฐบาลแต่บริษัทซัมมิทฯ ผิดสัญญาไม่ส่งมอบน้ำมันตามที่ตกลงไว้ แต่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการใด ๆ กับบริษัทซัมมิทได้ พฤติกรรมของบริษัทซัมมิทฯ ได้สร้างผลกระทบซ้ำเติมภาวะน้ำมันขาดแคลนของประเทศอยู่เนือง ๆ รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจากับประเทศสาธารณประชาชนจีน เพื่อขอซื้อน้ำมันดิบเช็งลี แต่เมื่อนำมากลั่นในโรงกลั่นบางจาก บริษัท ซัมมิทฯ กลับเรียกเก็บค่ากลั่นในอัตราที่สูงมาก อีกทั้งการที่รัฐบาลไม่มีคลังน้ำมันเป็นของตนเอง จึงจำเป็นต้องนำเรือบรรทุกน้ำมันมาใช้เป็น Floating Tank ลอยลำอยู่กลางอ่าวทยเพื่อเก็บและขนถ่ายน้ำมันให้แก่โรงไฟฟ้า จากพฤติกรรมดังกล่าว รัฐบาลจึงมีดำริที่จะยกเลิกสัญญาเช่าโรงกลั่นบางจาก และยึดคืนสิทธิการจัดหาน้ำมันดิบ โดย ฯพณฯ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เจรจากับชีคยามานี รัฐมนตรีน้ำมันของประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อเปลี่ยนแปลงสิทธิการจัดหาน้ำมันดังกล่าว คืนให้แก่รัฐบาลไทยจนเป็นผลสำเร็จ รัฐบาลจึงยกเลิกสัญญากับบริษัทซัมมิทฯ ก่อนหมดสัญญาเช่า พร้อมกับมอบหมายให้กระทรวงกลาโหม เป็นผู้ดำเนินการโรงกลั่นต่อไป ในส่วนหน้าที่การจัดหาน้ำมันดิบ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันให้ ปตท. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ แนวคิดในการปรับปรุงประสิทธิภาพ การบริหารงานด้านพลังงานในระยะแรก เริ่มจากแนวคิดที่จะจัดตั้ง ทบวงพลังงาน โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 ให้คณะกรรมการปฏิรูประบบราชการแผ่นดิน รับเรื่องการจัดตั้งทบวงพลังงาน ไปพิจารณาในรายละเอียด แต่เรื่องดังกล่าว มิได้ถูกนำเสนอกลับมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ต่อมาในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และต่อมาก็แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2529 เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และมาตรการต่าง ๆ ทางด้านพลังงาน ในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2532 ให้ยกฐานะสำนักงานคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (สพช.) เป็นหน่วยงานมีฐานะเป็นกรม สังกัดนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นสำนักเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2534 รัฐบาลโดยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะจัดตั้งกระทรวงพลังงานขึ้น ในการจัดตั้งกระทรวงพลังงานนั้น กำหนดให้มีการโอนงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องมาอยู่ภายใต้กระทรวงพลังงาน อย่างไรก็ตามรัฐบาลชุดนั้นยังมิได้มีมติในเรื่องดังกล่าวก็เกิดเหตุการณ์รัฐประหารโดยคณะรักษาความสบลเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เสียก่อน นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เศรษฐกิจได้ขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง พ.ศ. 2536 – พ.ศ. 2539 (แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6) ซึ่งกำหนดแนวทางการพัฒนาไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIC) ทำให้อัตราการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าเป็นไปอย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม ในการพัฒนาระบบไฟฟ้าต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก ประกอบกับในปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า รัฐบาลจึงมีนโยบายให้ กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (Independent Power Producer : IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer: SPP) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เพื่อลดภาระ การลงทุนในภาครัฐ และส่งเสริมการแข่งขัน ซึ่งจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าในที่สุด

ช่วงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงาน (พ.ศ. 2540 – 2549)

           การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศส่งผลให้ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น รัฐบาลมีนโยบายที่สร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน มุ่งมั่นสนับสนุนและผลักดันให้ประเทศเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาคอาเซียน ในปี พ.ศ. 2545 มีการปฏิรูประบบราชการ มีการเพิ่มกระทรวงจากเดิมที่มีอยู่มาเป็น 20 กระทรวง กระทรวงพลังงาน เป็นหนึ่งกระทรวงใหม่ ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการจัดหา พัฒนา และบริหาร จัดการด้านพลังงานโดยจัดตั้งขึ้นในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 และถือเป็นวันสถาปนากระทรวงพลังงาน นอกจากภารกิจหลักในการจัดหา พัฒนาและบริหารจัดการด้านพลังงาน และเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน กระทรวงพลังงาน มีนโยบายการดำเนินโครงการตามยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาค โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความร่วมมือทางด้านพลังงานไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันระหว่างประเทศ เพื่อขยายกำลังผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น และพร้อมจะเปลี่ยนบทบาทให้ประเทศไทยจากประเทศผู้ซื้อพลังงาน เป็นประเทศผู้ค้าพลังงานและผลักดันให้ประเทศเป็นศูนย์กลางพลังงานในภูมิภาคอาเซียน